‘ข้าวแช่’ ตำรับมอญแท้ ที่ ร้าน ‘ยุ้ง 7 Lifestyle & Eatery ’

‘ข้าวแช่’ ภาษามอญเรียกว่า ‘เปิงด้าจก์’ แปลว่า ‘ข้าวน้ำ’ ที่ร้าน ‘ยุ้ง 7’ Lifestyle & Eatery มีกับข้าว 7 อย่างรวมปลาสลิดทอด กับไข่เค็ม

‘ข้าวแช่’ ที่ร้าน ยุ้ง 7 Lifestyle & Eatery อร่อย โดนใจ หมูหวานชวนชิม เป็นยิ่งนัก ก่อนอื่นขอพูดถึง ‘ข้าวแช่’ ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบคือ ข้าวสุกขัดจนหมดยาง ก่อนเสิร์ฟนำไปแช่น้ำเย็น จะเป็นน้ำลอยดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม

หรือน้ำอบควันเทียนก็ได้ แล้วมีเครื่องหรือกับข้าว อาทิ เช่น ลูกกะปิ พริกหยวกสอดไส้ เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ไชโป้ผัดหวาน ปลาแห้ง ฯลฯ

เดิม ‘ข้าวแช่’ เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ มีชื่อเรียกว่า ‘เปิงด้าจก์’ แปลว่า ‘ข้าวน้ำ’ หรือมีอีกชื่อว่า ‘เปิงซังกราน’ แปลว่า ข้าวสงกรานต์ มักจะทำถวายแด่เทวดา และถวายพระสงฆ์ในตรุษสงกรานต์

อย่างที่ทราบกันว่า เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เจ้าจอมเชื้อสายมอญ ติดตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปถวายราชการที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่แก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนัก

อาหารใต้

ต่อมาก็ได้เผยแพร่ไปนอกวังและถูกปรับปรุงเพิ่มเติม จนเป็นที่นิยมไปทั่ว

ข้าวแช่ จึงมีมากมายหลายตำรับดังที่เคยกล่าวเอาไว้ แล้วแต่ว่าบ้านไหนนิยมรับประทานแบบไหน และช่วงหน้าร้อนในปี 2566 นี้ ดูเหมือนว่าจะร้อนมากกว่าทุกปี ด้วยภาวะโลกร้อน Climax Change อย่างเห็นได้ชัด

แต่ละร้านอาหารได้ทำ ‘ข้าวแช่’ ออกมาให้ได้ชิมกัน ขณะเดียวกันคนไทยหลายคนที่ยังไม่เคยลิ้มลอง ก็เริ่มที่จะกล้าลอง แล้วชอบ วันนี้ หมูหวานชวนชิม ขอแนะนำ ข้าวแช่มอญ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ ‘ข้าวแช่’ ทั้งหลายในขณะนี้

‘ข้าวแช่’ มอญเองก็คงมีสูตรแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน วันนี้มาชิม ‘ข้าวแช่’ ที่ร้าน ยุ้ง 7 Lifestyle & Eatery เจ้าของร้านเป็นคนไทย เชื้อสายมอญ ทำข้าวแช่กันเฉพาะช่วงตรุษสงกรานต์ พอมีโอกาสเปิดร้านอาหาร ก็เลยนำสูตรข้าวแช่ที่บ้าน มาเผยแพร่ให้ลูกค้ามีโอกาสได้ลิ้มลองบ้าง

‘คุณจิ๊บ’ จิตราวดี เสนคำสอน เล่าว่า ช่วงสงกรานต์ ลูกๆหลานๆจะมารวมตัวกัน ประมาณวันที่ 9-10 เมษายน ก็จะช่วยกันเตรียมเครื่องทำขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริกแจกญาติพี่น้องและนำไปถวายพระ

วันที่ 13-15 เมษายน ก็จะช่วยกันทำข้าวแช่ เหมือนเป็นวันรวมญาติ ทำอาหารรับประทานในโอกาสพิเศษ วันที่ 14 เมษายน ก็จะมีประเพณีมอญ มีขบวนแห่หางหงส์ ธงตะขาบ ฯลฯ